อนิเมชั่น โครงการพระราชดำริ "โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล"

* ด้วยพระเมตตา ช่วยพลิกชีวิตชาวนครนายกและจังหวัดใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล

ความเป็นมา :

ลุ่มน้ำนครนายกเป็นลุ่มน้ำสาขาหนึ่งของลุ่มน้ำบางประกง ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.บ้านนา อ.ปากพลี อ.องครักษ์ จ.นครนายก มีเนื้อที่ประมาณ 2430 ตาราง กม. ไหลไปประจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำนครนายกตอนบนมีต้นกำเนิดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะลักษณะภูมิประเทศบริเวณลุ่มน้ำเป็นหุบเขาแคบๆ และพื้นที่สูงชัน เป็นเหตุให้เกิดน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรงในช่วงฤดูฝน และน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ราบเป็นเวลานาน ซ้ำยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยพระองค์เองทรงรับทราบปัญหา และเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2536 ได้พระราชทานพระราชดำริให้มีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบนจะช่วยผ่อนทุกข์หนักให้เป็นเบา ระบบชลประทานจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้ไหลท่วมผืนดินและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง รวมทั้งลดปัญหาดินเปรี้ยวเมื่อผืนดินกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ จะเพาะปลูกอะไรก็ย่อมได้ ชาวบ้านจะมีกินมีใช้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เริ่มดำเนินการก่อสร้าง 2 พ.ย. 2542 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2544

หลักการ :

เขื่อนขุนด่านปราการชลเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่ยาวที่สุดในโลก ที่ใช้กักเก็บน้ำบริเวณนั้น มีพื้นที่ในการกักเก็บประมาณ 224 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่ผิวเขื่อนประมาณ 3087 ไร่

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยสามารถจัดสรรน้ำในพื้นที่ชลประทานได้ 185000 ไร่

2. เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคและอุตสาหกรรม

3. เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตจังหวัดนครนายก

4. เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก

ประโยชน์ ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ส่งน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่พื้นที่ รวม 185000 ไร่

2. ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 16 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี

แม้จะได้รับเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและกลุ่มต่อต้าน แต่พระองค์ทรงพระปรีชา สามารถหาวิธิแก้ไขปัญหาจนในที่สุดโครงการก็ได้รับการยอมรับจากประชาชน และสามารถพัฒนาวิถีชีวิตเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

 นับเป็นแสงแห่งพระบารมีที่จะส่องสว่างกลางใจปวงชนชาวไทยตราบนิรันดร์

ที่มา : พอเพียง org

แชร์ :